• ตั๋วเครื่องบินอเมริกา

ปลั๊ก 14 แบบ ที่ใช้อยู่ทั่วโลก

★ รวมปลั๊ก 14 แบบ ที่ใช้อยู่ทั่วโลก จะไปประเทศไหน เตรียมให้พร้อม!



 

หนึ่งปัญหากวนใจของนักเดินทาง ก็คงเป็นเรื่องปลั๊กนี่แหละค่ะ ที่แต่ละประเทศมักจะใช้ประเภทของปลั๊กที่แตกต่างกัน อะแดปเตอร์ที่ต้องใช้ก็มีหลายแบบ บางแบบก็ใหญ่เทอะทะ คงจะดีกว่าถ้าเราทำการบ้านไปอย่างแม่นยำว่าประเทศไหนใช้ปลั๊กแบบไหน และต้องเตรียมอุปกรณ์ไปอย่างไรบ้าง

ปัจจุบัน มีปลั๊กมากถึง 14 แบบ ที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกครับ (แต่บางแบบก็มีส่วนคล้ายกันจนสามารถใช้ร่วมกันได้) แบ่งประเภทปลั๊กตามลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษตั้งแต่ A-N โดยองค์กรที่กำหนดมาตรฐานปลั๊กอย่าง IEC หรือ International Electrotechnical Commision ระบุไว้อย่างจริงจังและละเอียดยิบ แต่นักท่องเที่ยวหลายคนก็ยังมองข้ามอยู่ดี

ในหลายๆ ประเทศ (รวมถึงประเทศไทย) สามารถใช้ปลั๊กได้หลาย Type ครับ อย่างที่เราจะสังเกตว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรา ปลั๊กจะเป็นแบบแบนบ้าง กลมบ้าง สองขาบ้าง สามขาบ้าง ซึ่งรูปลั๊กก็จะรองรับค่อนข้างครอบคลุม แต่ถ้าใครสังเกตว่าเวลาเราเดินทางไปบางประเทศ รูปลั๊กจะไม่ยืดหยุ่นเท่าบ้านเรา คืออาจจะเสียบได้เฉพาะหัวแบนเท่านั้น หรือหัวกลมเท่านั้น เป็นต้น หรือบางที่ยิ่งแล้วใหญ่ คือถ้าเอาเครื่องใช้ไฟฟ้าจากบ้านเราไป ต้องใช้อะแดปเตอร์แปลงก่อนเท่านั้น ถึงจะสามารถเสียบเข้ากับปลั๊กของประเทศนั้นๆ ได้

ก่อนที่จะสรุปว่า ไปไหน ใช้ปลั๊กแบบไหน มาดูปลั๊กทั้ง 14 แบบทั่วโลกกันก่อนค่ะ
(บางแบบนี่หลายคนอาจจะไม่เคยเห็นมาก่อนเลยนะ)



Type A
ปลั๊กหัวแบน สองขา (ไม่มีกราวด์) ถูกใช้เป็นหลักในทวีปอเมริกาเหนือ และ ญี่ปุ่น เรียกได้ว่าเป็นปลั๊กมาตรฐานที่ถูกใช้กันแพร่หลายอย่างมากทั่วโลก แต่ก็จะมีข้อสังเกตเล็กๆ ว่า ปลั๊ก Type A ในสหรัฐฯ ขาทั้งสองจะมีขนาดไม่เท่ากัน (มีขาหนึ่งใหญ่กว่า) เวลาเสียบจึงสามารถเสียบได้เพียงด้านเดียว สลับด้านไม่ได้ ในขณะที่ปลั๊ก Type A ในญี่ปุ่นมีขนาดของขาทั้งสองเท่ากัน เวลาเอาปลั๊กญี่ปุ่นไปเสียบในอเมริกาจึงสามารถเสียบได้ แต่บางครั้งถ้าเอาเครื่องใช้ไฟฟ้าในอเมริกามาเสียบในญี่ปุ่น อาจจะเสียบไม่เข้า เพราะมีขาหนึ่งใหญ่กว่ารูค่ะ

นอกจากนี้ บริเวณขาของเครื่องใช้ไฟฟ้าปลั๊ก Type A หลายตัว จะมีรูเล็กๆ อยู่ด้วย ซึ่งจะใช้งานร่วมกับสลักภายในปลั๊ก ที่จะช่วยให้ปลั๊กเสียบได้แน่น ไม่หลุดออกจากรูง่ายๆ
ประเทศไทยของเราเอง ก็ใช้ปลั๊ก Type A กันอย่างแพร่หลายเช่นกัน

Type B

ปลั๊ก Type B คือปลั๊กหัวแบนสองขา บวกขากราวด์ กลมๆ อีกหนึ่งขา หรือมันคือ Type A ที่มีขากราวด์นั่นแหละ ใช้งานเป็นหลักในทวีปอเมริกาเหนือ และ ญี่ปุ่น (รวมถึงไทย) เช่นกัน โดยยังคงมีความแตกต่างเรื่องขนาดของขาปลั๊กระหว่างในอเมริกากับญี่ปุ่นเช่นเดียวกับ Type A

ขากราวด์ของ Type B จะมีความยาวมากกว่าอีก 2 ขาเสมอ เพื่อที่ตอนเสียบปลั๊กนั้น เครื่องใช้ไฟฟ้าจะถูกต่อสายดิน ให้มีสถานะเป็นกราวด์ก่อนที่ไฟจะถูกจ่ายผ่านปลั๊กนั่นเองค่ะ

Type C

ปลั๊กหัวกลม 2 ขา (ไม่มีกราวด์) เป็นปลั๊กเก่าแก่ที่ถูกใช้เป็นหลักในทวีปยุโรป (ยกเว้นอังกฤษ) โดยในหลายมาตรฐานจะเรียกปลั๊กประเภทนี้ว่า Europlug แต่ในปัจจุบัน ถูกทดแทนด้วยช่องเสียบปลั๊ก Type E, F, J, K หรือ N ไปเสียส่วนมากแล้ว (แต่ยังสามารถเอา Type C ไปเสียบกับปลั๊กทุกแบบที่กล่าวมาได้อยู่) ด้วยการรองรับแรงดันไฟที่มากกว่าแบบ C และถูกใช้แพร่หลายมากกว่า อย่างไรก็ตาม หัวปลั๊กที่เครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวนมากยังคงใช้ปลั๊กแบบ Type C อยู่ และยังคงเป็นปลั๊กแบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุดทั่วโลกในปัจจุบัน

ปลั๊ก Type C นี่เราได้เห็นบ่อยๆ ในไทยเหมือนกันค่ะ เพราะช่องเสียบปลั๊กในบ้านเราก็รองรับแบบหัวกลมนี่ด้วย

Type D

ปลั๊กหัวกลมคู่ พร้อมขากราวด์ใหญ่ๆ เรียงเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ใน Type D ถูกใช้ในอินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา เนปาล เป็นหลัก ไม่ถูกใช้ในไทยค่ะ โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้กำลังไฟเยอะกว่าปกติ จะใช้ปลั๊ก Type M ที่มีความคล้ายคลึงกัน และส่วนมาก Type D กับ Type M จะสามารถใช้ร่วมกันได้

Type E

ปลั๊กยุโรปกลายพันธุ์ มีหัวกลมคู่ กับคลิปสำหรับกราวด์ 1 ด้าน ถูกใช้ในยุโรปบางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส, เบลเยี่ยม, สโลวาเกีย ฯลฯ มีความใกล้เคียงกับปลั๊กยุโรป Type F ที่ใช้เป็นมาตรฐานปัจจุบัน และส่วนมากสามารถเสียบร่วมกันได้กับ Type F


Type F

ปลั๊กที่ถูกใช้ส่วนมากในทวีปยุโรป เช่นในเยอรมัน ออสเตรีย สเปน (รวมถึงไทยก็เสียบได้) มีลักษณะเป็นขากลมคู่ พร้อมคลิปกราวด์ทั้งสองด้าน เต้าเสียบมักจะเป็นหลุมลงไป เพื่อความปลอดภัย ข้อเสียคือเป็นปลั๊กที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่เทอะทะไปเสียหน่อย
ประเทศไทยเราเองก็เห็นปลั๊ก Type F นี้ใช้งานกันอยู่บ่อยๆ ครับ โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัว หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ต่างๆ


Type G

ปลั๊กมาตรฐานอังกฤษ หัวสี่เหลี่ยม 3 หัว ถูกใช้ในประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร ฮ่องกง สิงคโปร์ บรูไน ฯลฯ มักจะใช้ร่วมกับปลั๊ก Type อื่นไม่ได้ และปลั๊กไทยที่จะเอาไปใช้ในประเทศกลุ่มที่ใช้ Type G นี้ ต้องอาศัยอะแดปเตอร์แปลงเท่านั้น ตามมาตรฐานของปลั๊ก Type G นี้จะมีฟิวส์ฝังอยู่ภายในด้วย เป็นหนึ่งในปลั๊กประเภทที่มีความปลอดภัยสูง

Type H

ปลั๊กประเภทพิเศษ Type H มีสามขาแบน เรียงกันเป็นสามเหลี่ยม เอียงเข้าหากัน ถูกใช้ในประเทศเดียวในโลกเท่านั้นคือ อิสราเอล ครับ แต่ปลั๊กประเภทนี้กำลังถูกใช้น้อยลงเรื่อยๆ เพราะอิสราเอลกำลังปรับไปใช้ Type C และ Type M ที่เป็นหัวกลมทดแทนแล้ว สังเกตได้จากรูปลั๊กจะสามารถเสียบได้ทั้งแบบหัวแบนและหัวกลม ซึ่งรองรับทั้ง 3 มาตรฐาน

Type I

ปลั๊กออสเตรเลีย Type I เป็นหัวแบน 3 ขา เอียงออกจากกันเป็นตัว V พร้อมขากราวด์ ถูกใช้ในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสามารถใช้กับปลั๊กในจีนได้ด้วย ปลั๊กประเภทนี้ ถ้าเดินทางจากไทยไป ก็ต้องใช้อะแดปเตอร์แปลงเท่านั้นค่ะ

Type J

Type J ถือว่าเป็นปลั๊กอีก 1 ประเภทที่ถูกใช้น้อยมากค่ะ แต่ถูกใช้ในประเทศที่น่าเที่ยวอย่างสวิตเซอร์แลนด์ และ ลิกเตนสไตน์ มีลักษณะเป็นหัวกลม 3 ขา แต่มีระยะห่างของขากราวด์ไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม ปลั๊กหัวกลม 2 หัวใน Type C สามารถนำมาเสียบเข้ากับปลั๊ก Type J ได้เลยอย่างพอดิบพอดี ไม่ต้องใช้หัวแปลงครับ ดังนั้นเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทยหลายตัวที่เป็น Type C เวลาไปเที่ยวสวิสนี่หายห่วง ไม่ต้องใช้อะแดปเตอร์แปลงเลย

 

Type K

Type K เป็นปลั๊กยุโรปกลายพันธุ์อีกแบบ ที่มีความใกล้เคียงกับ Type F มาก แต่เปลี่ยนจากคลิปกราวด์ เป็นขากราวด์ค่ะ ถูกใช้ในเดนมาร์ก และ กรีนแลนด์ เป็นหลัก โดยมีเอกลักษณ์โดดเด่นที่เต้าเสียบจะเหมือนหน้าคนยิ้ม เต้าเสียบปลั๊ก Type K นี้ รองรับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นปลั๊กแบบ Type C (หัวกลมคู่) โดยสามารถนำมาเสียบได้เลยโดยไม่ต้องผ่านอะแดปเตอร์

 

Type L

Type L เป็นปลั๊กอิตาลีครับ หนึ่งในยุโรปกลายพันธุ์อีกแบบ มีลักษณะเป็นขากลม 3 ขาเรียงกันเป็นเส้นตรง โดยขาตรงกลางเป็นขากราวด์ เต้าเสียบของ Type L สามารถนำปลั๊กหัวกลมคู่อย่าง Type C และ Type F มาเสียบใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องแปลง

Type M

ปลั๊ก Type M หัวกลม 3 ขา โดยขากราวด์มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ ถูกใช้เป็นหลักในประเทศแอฟริกาใต้ และประเทศใกล้เคียง มีลักษณะใกล้เคียงกับปลั๊ก Type D มาก ยกเว้นขนาดของขากราวด์ ซึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้า Type D หลายตัวสามารถนำมาใช้กับรูปลั๊กของ Type M ได้เลยโดยไม่ต้องผ่านอะแดปเตอร์แปลง

Type N

ปลั๊กแบบสุดท้าย หรือ Type N นี้ เป็นปลั๊กที่ใช้ในประเทศบราซิลเป็นหลักค่ะ ปลั๊กหัวกลม 3 ขา ที่มีความใกล้เคียงกับ Type J แต่ขากราวด์ของ Type N อยู่ชิดกับขาหลักมากกว่าเล็กน้อย ปลั๊ก Type N สามารถนำเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็น Type C มาเสียบได้เลยโดยไม่ต้องผ่านอะแดปเตอร์แปลงค่ะ

ข้อควรระวังสำหรับประเทศบราซิล คือเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลก ที่มีระบบการจ่ายไฟ 2 แรงดัน คือบางพื้นที่จ่ายไฟ 127V ในขณะที่บางพื้นที่จ่ายไฟ 220V จึงต้องระมัดระวังถ้าจะนำเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้รองรับ Dual Voltage ไปใช้งาน (แต่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของคนไทย เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าบ้านเรา 220V อยู่แล้ว ถึงจะนำไปเสียบผิด ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายอะไร)


------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : www.spin9.me
ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ :

- Website
spin9.me 
- Facebook Page  http://spin9.me/2015/07/25/world-plugs-type/

ค้นหาบทความ

  • ลูกบาส
  • ที่ปรึกษาการท่องเที่ยวต่างประเทศ
  • ทัศ
  • ที่ปรึกษาการท่องเที่ยวต่างประเทศ
  • พี
  • แผนกกรุ๊ปเหมาทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  • เอ๋
  • ที่ปรึกษาตั่วเครื่องบินในประเทศ-ต่างประเทศ องค์กรเอกชน, หน่วยงานราชการ, รัฐวิสาหกิจ ลูกค้าทั่วไป
  • ปุ๊กกี้
  • ที่ปรึกษาตั่วเครื่องบินในประเทศ-ต่างประเทศ องค์กรเอกชน, หน่วยงานราชการ, รัฐวิสาหกิจ ลูกค้าทั่วไป
  • เนตร
  • ที่ปรึกษาตั่วเครื่องบินในประเทศ-ต่างประเทศ องค์กรเอกชน, หน่วยงานราชการ, รัฐวิสาหกิจ ลูกค้าทั่วไป
DEPARTMENT OF TOURISM
Thai Travel Agents Association
Amazing Thailand Safety and Health Administration (SHA)