• cantonfair
  • จองทัวร์กับ EDC
  • ticket
  • เที่ยวจีน
  • ขอราคากรุ๊ปเหมาคลิกเลย
  • เที่ยวญี่ปุ่น

เตอร์กิช ดีไลท์ (Turkish Delight)

ไม่มีเมนูอื่นใดในโลกที่ชื่อของมันจะบอกสรรพคุณทางการกินและถิ่นกำเนิดไปพร้อมกันอย่างครบถ้วนได้อย่างเตอร์กิช ดีไลท์ (Turkish Delight) อีกแล้วค่ะ... ใช่แล้ว เตอร์กิช ดีไลท์ คือขนมหวานจากตุรกี เป็นขนมที่รับประทานไปแล้ว ก็ชวนให้เริงร่าสมชื่อ (เว้นเสียแต่คุณไม่ชอบรสหวาน และไม่พิสมัยในการดื่มชาตามมากๆ)


ก่อนจะรู้จักเตอร์กิช ดีไลท์ ฉันดันเชื่อมาตลอดว่าอาหารประจำชาติตุรกีคือไก่งวง... ก็แหงล่ะ ชื่อภาษาอังกฤษของเจ้าไก่งวงมันพ้องคำกันโต้งๆ กับชื่อประเทศว่า Turkey และสมัยเรียนมัธยม ฉันก็อ่านภาษาอังกฤษของคำว่าไก่งวงว่าตุรกีเสียตั้งนาน ทั้งที่ควรจะเป็น ‘เทอร์กี้’- เรียกว่าทั้งงมโข่งและปล่อยไก่ไปพร้อมกันในคราวเดียวอย่างไรก็ดี หลังไปสืบค้นจากหลายแหล่ง ฉันก็พบว่าไก่งวงไม่ได้มีที่มาจากตุรกี แต่เตอร์กิช ดีไลท์ เนี่ยสิ ของพี่เตอร์กิชดังชื่อเขาจริงแท้
เตอร์กิช ดีไลท์คือขนมหวาน ซึ่งคนท้องถิ่นในตุรกีเรียกกันว่าโลคุม (Lokum) เป็นขนมหวานทรงลูกเต๋าที่ประกอบขึ้นจากแป้งและน้ำตาล มักจะมีอัลมอนด์ ถั่วพิสทาชิโอ วอลนัท และแมคคาเดเมียผสมเข้าไปด้วย โดยส่วนมากหน้าตาจะมีสีชมพูเข้ม แต่ก็ดูจางลงไปทันทีเมื่อเสิร์ฟกับน้ำตาลไอซิ่งที่คลุกเคล้าประหนึ่งแป้งฝุ่น ทั้งตัวขนมที่ทำจากน้ำตาลเป็นหลัก แล้วไหนจะน้ำตาลไอซิ่งที่คลุกเข้ามาอีก รวมกันแล้วไม่ใช่แค่หวานจัด แต่หวานบาดจิตบาดใจเลยทีเดียว


มีคำพังเพยของชาวตุรกีคำหนึ่งที่ว่า “Eat sugar and speak sweety” ซึ่งเป็นคำที่สะท้อนวิถีการกินของคนในแถบภูมิภาคสองทวีป (ยุโรปตะวันออก – เอเชียตะวันตก) นี้ที่นิยมกินหวานได้ดี แต่ถึงแม้จะชอบทานหวานกันมาก กว่าน้ำตาลจะเข้ามาในตุรกีก็เมื่อปลายศตวรรษที่ 18 นี้เอง ก่อนหน้านั้นชาวตุรกีทานหวานจากน้ำผึ้งและกากน้ำเชื่อมขององุ่น (Pekmez)น้ำตาลเริ่มเข้ามาในยุคที่ตุรกีอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรออตโตมัน วัตถุดิบอันหวานชื่นรื่นรมย์นี้ก็ทำให้เหล่าพ่อครัวแม่ครัวได้สร้างสรรค์ขนมหวานใหม่ๆ มากหน้าหลายตา และหนึ่งในนั้นก็กลายมาเป็นไอคอนทางอาหารของประเทศตุรกีจนทุกวันนี้ ขนมที่มีชื่อเป็นภาษาอาหรับว่า Rahat Al-halkum อันมีความหมายว่า 'คล่องคอ' ส่วนภาษาอังกฤษแปลได้หรรษากว่าว่า Turkish Delight เล่ากันว่าเตอร์กิช ดีไลท์เป็นผลิตผลจากความเสน่หาของสุลต่านแห่งอาณาจักรออตโตมันที่ต้องการจะเอาใจภรรยาทั้งหลายของเขา สุลต่านจึงสั่งให้นักทำขนมผสมน้ำเชื่อมเข้ากับถั่วแบบต่างๆ และผลไม้แห้ง คนให้เข้ากับ mastic หรือยางไม้ของอาหรับ ซึ่งหลังจากการทดลองกับส่วนผสมหลายรูปแบบ นายฮาซิ เบอเกียร์ (Haci Bekir) เฮดเชฟของหวานประจำราชสำนักก็ได้รังสรรค์ขนมหวานสีชมพูได้เป็นผลสำเร็จ และกลายเป็นของหวานยอดฮิตภายในรั้ววัง ก่อนที่นายฮาซิจะนำสูตรขนมที่คิดค้นนี้ไปเปิดร้านของตัวเองกลางกรุงอิสตันบูล เมื่อปี ค.ศ.1777 และขายดีเป็นเทน้ำเทท่าว่ากันว่า พาโบล ปิกัสโซ่ ติดขนมชนิดนี้งอมแงม และนิยมทานขณะที่ทำงานศิลปะ เช่นเดียวกับ นโปเลียน โบนาปาร์ต และวินสตัน เชอร์ชิล ที่ชอบทานแบบสอดไส้ถั่วพิสทาชิโอ ขณะที่ ซี.เอส. ลูอิส ผู้เขียน The Chronicles of Narnia ก็ให้แม่มดขาวในเรื่องใช้เตอร์กิช ดีไลท์ เป็นขนมล่อลวงเอ็ดมุนด์เด็กหนุ่มผู้โปรดปรานขนมชนิดนี้เป็นทุนเดิม จนเขาตกเป็นทาสของแม่มดผู้เจ้าเล่ห์


เมื่อฮอลลีวูดนำนิยายเรื่องนี้ไปทำเป็นภาพยนตร์ ในปี 2005 ขนมชนิดนี้ก็เข้าสู่วัฒนธรรมป๊อบอย่างเต็มตัว ถึงแม้จะไม่ได้โด่งดังระดับช็อคโกแลต หรือมาการอง แต่ก็สร้างชื่อให้กับประเทศตุรกี ที่คนส่วนมากจะรู้จักเพียงแค่โบสถ์ฮาเกียโซเฟีย สุเหร่าสีน้ำเงิน หรือ ม้าไม้เมืองทรอยเตอร์กิช ดีไลท์ทานเปล่าๆ ไม่อร่อยค่ะ ฉันเคยทดลองทานเปล่าๆ ครั้งหนึ่ง และพบกับความหวานขื่นคอ คนตุรกีจะทานเจ้าขนมชนิดนี้กับชาหรือกาแฟเพื่อเกลี่ยรสสัมผัส แม้เตอร์กิช ดีไลท์สมัยใหม่จะมีการแต่งกลิ่นหลากหลาย ที่นิยมมากที่สุดคือกลิ่นกุหลาบ (ช่างเข้ากับสีชมพูหวานแหววเสียนี่กระไร) ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัว ฉันพบว่ามันคล้ายๆ เรากำลังเคี้ยวกลีบกุหลาบที่มีความเหนียวและนุ่ม (และหวานจัด) อย่างไรก็ดี ต้นตำรับของการทานเตอร์กิช ดีไลท์คือการรับประทานขนมแบบไม่มีกลิ่น แต่จะเลือกทานคู่กับชาที่มีกลิ่นแรงๆ แทน เพื่อช่วยลดความหวานและเสริมความกลมกล่อมให้สุนทรียรส  ปัจจุบันเตอร์กิช ดีไลท์ เป็นของฝากยอดนิยมของประเทศตุรกี แม้จะมีขายอยู่ทั่วเมือง แต่ไม่มีที่ไหนมากมายเท่ากับที่ตลาดเครื่องเทศ หรือ Spice Bazaar ตลาดในร่มที่ใหญ่เป็นรองแค่ Grand Bazaar กลางกรุงอิสตัลบูล ร้านขายเตอร์กิช ดีไลท์ มีหลายรูปแบบมาก บ้างก็วางขายง่ายๆ แบบชั่งกิโลฯ โดยใส่ถาดกองอยู่หน้าร้าน บ้างก็ขายพร้อมแพคเกจสวย เหมาะสำหรับซื้อเป็นของขวัญหรือของฝาก
ขณะที่ร้านต้นตำรับ Ali Muhiddin | Haci Bekir ของนายฮาซิ เบอเกียร์ ปัจจุบันก็ยังเปิดขายอยู่ บริหารงานโดยลูกหลานของเขา ซึ่งสืบต่อกันมา 200 กว่าปีแล้ว ร้านตั้งอยู่บนถนน Hamidiye Caddesi แถมยังมีขายแบบออนไลน์ด้วยนะ เข้าไปดูได้ในเว็บไซต์ www.hacibekir.com ปัจจุบันร้านนี้เขาส่งออกเตอร์กิช ดีไลท์ ไปทั่วโลก และมีรสชาติให้เลือกหลายสิบรส บรรจุในแพ็คเกจสุดคลาสสิก ซึ่งแน่นอน ด้วยความเก่าแก่และเป็นต้นตำรับ ราคาก็ย่อมสูงกว่าที่ขายในท้องตลาดอยู่พอสมควร


ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.gypzyworld.com/article/view/264

ค้นหาบทความ

ทัวร์แนะนำ

Turkiye Best price 10 วัน 7 คืน โดยมาฮาน แอร์[W5]
พฤศจิกายน 2567 - กุมภาพันธ์ 2568
ราคา ฿ 34,999.-
  • ลูกบาส
  • ที่ปรึกษาการท่องเที่ยวต่างประเทศ
  • ทัศดาว
  • ที่ปรึกษาการท่องเที่ยวต่างประเทศ
  • เตยหอม
  • ที่ปรึกษาการท่องเที่ยวต่างประเทศ
  • คุณจ้ะเอ๋
  • ที่ปรึกษาตั่วเครื่องบินในประเทศ-ต่างประเทศ องค์กรเอกชน, หน่วยงานราชการ, รัฐวิสาหกิจ ลูกค้าทั่วไป
  • คุณเนตร
  • ที่ปรึกษาตั่วเครื่องบินในประเทศ-ต่างประเทศ องค์กรเอกชน, หน่วยงานราชการ, รัฐวิสาหกิจ ลูกค้าทั่วไป
  • ลูกตุ้ม
  • ที่ปรึกษาตั่วเครื่องบินในประเทศ-ต่างประเทศ องค์กรเอกชน, หน่วยงานราชการ, รัฐวิสาหกิจ ลูกค้าทั่วไป
  • พีพี
  • แผนกกรุ๊ปเหมาทั้งในประเทศและต่างประเทศ
DEPARTMENT OF TOURISM
Thai Travel Agents Association
Amazing Thailand Safety and Health Administration (SHA)